web designer กับกฎหมายโฆษณา

web designer กับกฎหมายโฆษณา
คงเคยได้ยินนะครับว่าการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) กับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Advertisement) น่ะความหมายมันต่างกัน ในทางกฎหมายแล้วมันต่างกันมากเลยครับ การโฆษณาที่ถูกต้องนั้นตามกฎหมายไทยมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคควบคุมอยู่ ซึ่งบรรดา web designer และ webmaster จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายนี้เช่นกัน เพราะหน้าที่หนึ่งของ web site ในยุค e-commerce ก็คือการประชาสัมพันธ์หน่วยงานและสินค้าและบริการ ซึ่งหากทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปโดยฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคแล้วก็อาจจะถูกสั่งให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในการโฆษณา ถูกห้ามการใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฎในการโฆษณา ถูกห้ามการโฆษณาหรือให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้บริโภค ซึ่งนั่นหมายถึง การต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมากขึ้นโดยไม่จำเป็นใช่ไหมครับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถูกสั่งให้แก้ไข แล้วไม่ทำตามก็มีโทษทางอาญาด้วยนะครับ คือ จำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทครับ

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดไว้เป็นหลักการกว้าง ๆ ว่าการโฆษณาสินค้าและบริการจะต้องไม่ใช่ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค (เช่นข้อความเท็จหรือเกินความจริง หรือข้อความโฆษณาที่จะก่อให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ) ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายแก่สังคมเป็นส่วนรวม รวมทั้งห้ามใช้วิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายหรือจิตใจ หรืออาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้บริโภค ซึ่งการที่กฎหมายเขียนไว้แค่นี้ก็ยังไม่เห็นภาพครับว่าการโฆษณาอย่างใดบ้างที่กฎหมายห้าม ในทางปฏิบัติเขาก็จะมีคณะกรรมการการโฆษณาอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาว่าการโฆษณาใดฝ่าฝืนกฎหมายบ้างครับ โดยคณะกรรมการนี้จะวินิจฉัยเป็นกรณี ๆ ไป ตามที่สืบสวนพบหรือมีผู้ร้องเรียน ซึ่งผมจะยกตัวอย่างให้ดูพอหอมปากหอมคอเพื่อเป็นข้อเตือนใจนะครับ

ตัวอย่างของข้อความโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์ ก็เช่นบรรดาโฆษณาที่ใช้คำว่า "ที่สุด" ทั้งหลายล่ะครับ (สง่างามที่สุด,โออ่าที่สุด) ส่วนการโฆษณายืนยันข้อเท็จจริงว่าได้รับรางวัลหรือใบรับรองคุณภาพก็ต้องพิสูจน์แสดงความจริงด้วยครับ (เช่นอ้างว่าเป็นแชมป์ในการประกวด ก็ต้องบอกว่าใครจัดประกวดและจัดเมื่อใด เป็นต้น) สำหรับการโฆษณาเปรียบเทียบเหยียบย่ำสินค้าอื่นนั้น จริงๆ เขาก็ไม่ได้ห้ามอะไรนะครับ เว้นแต่จะมีลักษณะเกินความจริงหรือเป็นเท็จ

เรื่องการโฆษณารับประกันสินค้าก็ต้องระวังนะครับ เดินไปเดินมาแถวพันธ์ทิพย์ เคยสังเกตร้านคอมพิวเตอร์ไหมครับที่เขียนว่ารับประกัน 5 ปี แต่เอาจริง ๆ ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นก็รับประกันนานไม่เท่ากันครับ ตรงนี้คณะกรรมการเคยวินิจฉัยแล้วน่ะครับว่าฝ่าฝืนกฎหมาย รวมถึงเรื่องการประกันว่าจะคืนเงินให้ถ้าไม่พอใจสินค้า หากในทางปฏิบัติมีเงื่อนไขใด ๆ ในการคืนเงินก็ต้องระบุให้ชัดเจนในการโฆษณาด้วยครับ

คนไทยส่วนใหญ่(รวมทั้งผมด้วย) ชอบของดีราคาถูกจึงมักตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาเป็นประจำโดยเฉพาะการโฆษณาบ้านกับรถยนต์ ในการโฆษณาเขาก็จะมีภาพสวยๆ แล้วบอกราคาถูก ๆ ครับ เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้ spec ตรงนั้น จะเอาถูกก็เป็นอีกแบบนึงครับ เป็นอย่างนี้ทุกที ผู้บริโภคอยากได้ของดีก็ต้องยอมจ่ายมากกว่าที่เขาโฆษณา เรื่องนี้คณะกรรมการก็เคยวินิจฉัยว่าฝ่าฝืนกฎหมายเช่นกันครับ

ตัวอย่างโฆษณาต้องห้ามเรื่องสุดท้าย ที่ผมอยากจะยกก็คือข้อความโฆษณาที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมหรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติครับ โฆษณากลุ่มนี้ก็ได้แก่พวกที่ใช้คำสองแง่สามง่ามทั้งหลายครับ ("นอนกับแอร์" จำได้ไหมครับ?) รวมถึงการโฆษณาสถานเริงรมย์ต่าง ๆ หรือการขายบริการทางเพศ (ที่เคยเห็นในหนังสือพิมพ์กีฬาบางฉบับนั้นแหล่ะครับ)

พอหอมปากหอมคอกันแล้วนะครับเกี่ยวกับเรื่องโฆษณา ทีนี้ก่อนเขียน web ก็คิดกันให้หนัก ๆ ก่อนจะได้ไม่ต้องมาปวดหัวทีหลังนะครับ

โดย Lawyerthai.com

ความคิดเห็น

  1. 1
    daer
    daer 06/01/2010 19:26

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view