การเลือกฟ้องคดีแพ่งกับคดีอาญามีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันครับ ข้อแรกท่านคงต้องถามตัวเองว่าอยากได้อะไรจากการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดครับ ถ้าอยากจะได้ค่าเสียหายเป็นหลัก ก็ควรฟ้องคดีแพ่งครับ ถ้าต้องการให้คนละเมิดลิขสิทธิ์เข็ดหลาบและต้องการแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่าคนผิดควรรับโทษก็ไปแจ้งความหรือฟ้องคดีอาญาครับ ซึ่งถ้าเลือกจะดำเนินคดีอาญาก็ต้องรีบทำภายใน 3 เดือนนับแต่รู้ถึงการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดครับ เพราะความผิดกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ครับ กฎหมายจะกำหนดอายุความทางอาญาไว้ค่อนข้างสั้น ส่วนถ้าจะดำเนินคดีแพ่งท่านก็มีเวลาในการตัดสินใจฟ้อง 3 ปีนับแต่รู้ถึงการกระทำผิดและรู้ตัวผู้ทำผิดครับ (คดีแพ่งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์มีอายุความมากกว่าคดีแพ่งทั่วไปที่กำหนดไว้เพียง 1 ปีนับแต่รู้ถึงการทำผิดและรู้ตัวผู้ทำผิด)
การฟ้องคดีแพ่งกับคดีอาญามีเงื่อนแง่ทางกฎหมายที่แตกต่างกันครับ ที่ผมเคยพูดถึงตอนที่เล่าถึงคดีไมโครซอฟท์ - เอเทค ก็คือ คดีแพ่งจะไม่นำหลักผู้เสียหายทางนิตินัยมาใช้ครับ กรณีปัญหาข้อกฎหมายเรื่องล่อซื้อก็จะไม่เป็นอุปสรรค อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นจุดต่างก็คือ เรื่องมาตรฐานการพิสูจน์ครับ พูดให้ง่าย ๆ ก็คือ ถ้าท่านฟ้องคดีแพ่ง ท่านมีโอกาสชนะคดีมากกว่า เพราะในคดีแพ่งเพียงแต่ถ้าพยานหลักฐานของท่านมีน้ำหนักมากกว่าฝ่ายจำเลย (เช่น 51 : 49) ศาลก็จะตัดสินให้ท่านชนะคดีแล้วครับ เรียกมาตรฐานการพิสูจน์นี้โก้ ๆ เป็นภาษากฎหมายว่า preponderance of evidence ครับ ส่วนในคดีอาญานั้นแค่ 51 : 49 น่ะ ไม่พอครับ ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีก็ต่อเมื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นจนปราศจากข้อสงสัยตามสมควร (Proof beyond reasonable doubt) ครับว่ามีการทำผิดเกิดขึ้น และจำเลยที่ถูกฟ้องเป็นผู้กระทำผิด ถ้าจะเทียบเป็นตัวเลขก็คงต้องมากกว่า 80 : 20 ล่ะครับ
คดีไมโครซอฟท์-เอเทคนั้นโจทก์เลือกฟ้องเป็นคดีอาญาครับ คงจะเพราะต้องการให้ผู้ทำผิดหลาบจำไม่คิดทำผิดอีก ซึ่งก็ทำให้ศาลนำหลักผู้เสียหายโดยนิตินัยมาใช้และมาตรฐานการพิสูจน์ก็เป็นไปอย่างเข้มข้นครับ ส่วนท่านผู้อ่านที่คิดจะฟ้องคดีก็ควรชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียให้ดีก่อนตัดสินใจนะครับ เพราะถ้าฟ้องคดีอาญาไปก่อนแล้วแพ้ อาจจะให้ฟ้องคดีแพ่งอีกไม่ได้นะครับ เพราะหลักกฎหมายเขามีว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาครับ (แต่หลักนี้ก็มีรายละเอียดและข้อยกเว้นนะครับ ซึ่งคงไม่กล่าวในที่นี้ เพราะไม่อยากให้บทความนี้กลายเป็นตำรากฎหมายครับ)
โดย Lawyerthai.com
ความคิดเห็น