Microsoft vs Atec (Episode II ) : The Empire strikes back

Microsoft vs Atec (Episode II ) : The Empire strikes back
หลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 4301/2543 ยกฟ้องในคดีที่ไมโครซอฟท์ฟ้องเอเทคแล้ว ก็ใช่ว่าเรื่องจะจบลงง่ายๆ ครับ ในปี 2543 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ศาลฎีกายกฟ้อง ไมโครซอฟท์ก็ฟ้องเอเทคเป็นคดีอาญาฐานละเมิดลิขสิทธิ์ต่อศาลทรัพยสินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง (ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น) อีกครับ แต่คราวนี้ไม่ได้ฟ้องเอเทคโดยตรง แต่ฟ้องบริษัทนิยมไทยจำกัด (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "บริษัท น." ครับ) ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ของเอเทค ข้อเท็จจริงของคดีใหม่นี้ก็คล้ายกับคดีเก่าครับ คือไมโครซอฟท์สงสัยว่าคอมพิวเตอร์ที่บริษัท น.จำหน่ายมีโปรแกรมที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์อยู่ด้วยครับ ก็เลยจ้างฝรั่งให้ไปล่อซื้อคอมพิวเตอร์จากบริษัท น. ซึ่งคดีนี้ศาลมองว่าไม่ใช่การล่อให้กระทำความผิด (entrapment) เพราะมีพยานหลักฐานหลายอย่างที่ทำให้ศาลเชื่อว่า บริษัท น. จำหน่ายคอมพิวเตอร์พร้อมกับโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์เป็นปกติอยู่แล้วครับ ไม่ใช่เพิ่งจะมีการติดตั้งโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อผู้ซื้อ(ปลอม)ที่ได้รับว่าจ้างจากไมโครซอฟท์ไปล่อซื้อ

คดีนี้มันต่างกับคดีเก่าตรงที่ว่า ไมโครซอฟท์เขานำวิศวกรคอมพิวเตอร์มาเบิกความชัดเจนครับว่าโปรแกรม Microsoft Windows 98 และ office 97 ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์นี้ มีการติดตั้งก่อนที่จะมีการตกลงซื้อขายคอมพิวเตอร์จริง ๆ จากพยานหลักฐานพบว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่ติดตั้งโปรแกรม Windowsครับ แต่วิศวกรของไมโครซอฟท์เขาก็พิสูจน์ให้เห็นถึงวันที่ติดตั้งที่แท้จริงได้ ส่วนโปรแกรม office 97 วิศวกรเขาไปดู file ชื่อ OFFITEMS LOG ก็ทราบว่า Office ถูกเปิดใช้ครั้งแรกในวันที่พนักงานขายเปิดเครื่องให้ลูกค้า(ปลอม)ดูครับ แสดงว่า โปรแกรม office97 ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ถูกติดตั้งไว้ก่อนวันนั้นครับ ประกอบกับตอนที่ลูกค้า (ปลอม)ไปรับเครื่อง เครื่องคอมพิวเตอร์ก็อยู่ในกล่องอย่างดีครับ พอยกออกมาลอง เครื่องก็มีโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์อยู่แล้วพร้อมสรรพ ต่างกับคดีแรกที่พอลูกค้า (ปลอม) ไปรับเครื่องน่ะ เครื่องอยู่นอกกล่องครับ และคดีก่อนก็ไม่มีพยานหลักฐานยันยันวันติดตั้งโปรแกรมที่ชัดเจนเหมือนคดีนี้ ในที่สุดแล้วในคดีหลังนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึง พิพากษาให้ไมโครซอฟท์ชนะคดี ก็พิพากษาลงโทษบริษัท น. กับกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นจำเลย ที่1 และ ที่ 2 ครับ ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานขายก็หนีไปตามระเบียบตั้งแต่เขายังไม่ฟ้องครับ ศาลจึงไม่ได้ระบุในคำพิพากษาว่าต้องรับผิดด้วยหรือไม่ครับ

ในคดีหลังนี้ ฝ่ายจำเลยเขาก็อ้างข้อต่อสู้เดิมๆ กับในคดีแรกครับ ซึ่งไมโครซอฟท์เขาก็รู้ทางมวยอยู่แล้วจึงแก้ได้ทั้งหมดครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องว่าบริษัทน. มีข้อบังคับติดไว้ในสำนักงานขายทุกแห่งว่า ไม่ให้พนักงานติดตั้งโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์ในคอมพิวเตอร์ที่ขาย หรือที่ว่าในใบเสร็จระบุว่าขายแต่เครื่องไม่มีโปรแกรมครับ คือศาลท่านเห็นว่าถ้าขายเครื่องได้บริษัท น. ก็ได้เงินครับ ถึงจะมีข้อบังคับ และระบุในใบเสร็จไว้อย่างนั้น แต่ก็อาจจะมี hidden agenda ก็ได้ครับว่า จริง ๆ แล้วเป็นอย่างไร ก็เป็นดุลพินิจของศาลในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานครับ คนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ คงไปก้าวล่วงไม่ได้ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าคดีนี้จำเลยเขาได้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหรือไม่ครับ (คดีทรัพย์สินทางปัญญา นี้อุทธรณ์จากศาลทรัพย์สินทางปัญญา ไปยังศาลฎีกาได้โดยตรงครับไม่ต้องผ่านศาลอุทธรณ์ ) แต่ที่ผมเช็คคำพิพากษาฎีกาตอนนี้ก็ยังไม่เห็นมีออกมาครับ ถ้ามีการฎีกาแล้วศาลฎีกาพิพากษาออกมาอีกทางหนึ่ง ผมก็คงต้องเขียน ภาค 3 ของคดีนี้ แล้วตั้งชื่อว่า Return of the Jedi แน่ๆ เลยครับ

โดย Lawyerthai.com

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view