เหตุผลที่ศาลฎีกายกฟ้องคดีนี้เพราะเห็นว่าไมโครซอฟท์เป็นผู้ก่อให้เอเทคกระทำผิด เพราะจ้างคนไปล่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมละเมิดลิขสิทธ์ เลยไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิ์ฟ้องเอเทคเป็นคดีอาญาได้ครับ หลักเรื่องผู้เสียหายโดยนิตินัยนี้ ศาลไทยท่านก็วางหลักขึ้นมานานแล้วครับ เหตุผลก็คือแม้ว่าเราจะเป็นผู้เสียหายในทางความเป็นจริงจากการทำผิดอาญา แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎว่าเราไปมีส่วนร่วมในการทำผิดหรือไปก่อให้ผู้อื่นมาทำผิด ก็ไม่ถือว่าเราเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาได้ครับ (ในคดีแพ่งไม่มีหลักนี้ แต่เมื่อไมโครซอฟท์เลือกฟ้องเป็นคดีอาญา ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์นี้ครับ ยังไงเรื่องฟ้องคดีแพ่งหรือคดีอาญาผมจะเขียนถึงอีกครั้งหนึ่งครับ)
การล่อให้กระทำความผิดหรือการล่อซื้อนั้นเป็นวิธีการสืบสวนสอบสวนที่ใช้กันอยู่เกือบทุกประเทศครับ โดยเฉพาะในคดียาเสพติดและการค้าประเวณี ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ใช้การล่อซื้อก็คงสืบสวนคดีพวกนี้ไม่ได้หรอกครับ กฎหมายของประเทศต่างๆ จึงได้รับรองวิธีการนี้ แต่ก็ต้องมีหลักประกัน (safeguard) ครับว่า วิธีการล่อซื้อนี้เป็นเพียงวิธีการกระตุ้น (encourage)ให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดอยู่แล้ว กระทำความผิดขึ้นมาจริงๆ ไม่ใช่การสร้างสถานการณ์หรือวางกับดัก (entrapment) ให้สุจริตขึ้นซึ่งทนแรงกระตุ้มไม่ไหวต้องกระทำความผิดครับ
หลักเรื่อง Defense of Entrapment นั้นในอเมริกาเขาจะใช้กับกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ล่อซื้อครับ ซึ่งศาลเขาก็ได้อาศัยหลัก subjective test ในการพิจารณาว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการกระตุ้นให้ทำผิดหรือการวางกับดักครับ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยในคดีไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิดมาก่อน การที่เจ้าหน้าที่ไปล่อซื้อก็เป็นการวางกับดักครับ จำเลยยกเรื่องนี้เป็นข้อต่อสู้ให้พ้นความผิดได้ หลัก subjective test ที่ศาลอเมริกาใช้อยู่บางคนเขาก็เห็นว่าดูยากครับ นักกฎหมายอเมริกันบางคนเขาก็เสนอหลักที่เรียกว่า objective test ซึ่งจะดูจากพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการล่อซื้อว่าอยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้หรือไม่ เช่นมีคดีหนึ่งครับ ที่เจ้าหน้าที่เขากำลังสืบสวนหาคนผิดในคดีเผยแพร่สิ่งลามกที่เกี่ยวกับเด็ก โดยในอเมริกาเขาลงโทษประชาชนที่บอกรับสิ่งลามกที่เกี่ยวกับเด็กทางไปรษณีย์ด้วยครับ ข้อเท็จจริงปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐสวมรอยเป็นผู้ประกอบกิจการเผยแพร่รูปโป๊เด็ก ได้ติดต่อทางไปรษณีย์ไปยังจำเลยในคดี (สมมติว่าเป็น นาย ก. นะครับ.) ถึง 26 ครั้ง จนนาย ก. ตกลงปลงใจบอกรับเป็นสมาชิกภาพโป๊และก็โดนจับครับ วิธีการส่งไปถึง 26 ครั้งนี้ก็เกินเลยไปนะครับ คดีนี้ศาลก็เลยวินิจฉัยว่าเป็น entrapment (แต่ศาลใช้ subjective test ครับ ซึ่งก็ได้ผลไม่ต่างกันในข้อเท็จจริงอย่างนี้)
แม้กฎหมายไทยจะไม่มีหลักเรื่อง Defense of Entrapment เพื่อยกเว้นความผิดอาญา แต่หลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าอย่างใดเป็นการล่อให้กระทำความผิดนั้นก็เป็นอย่างเดียวกัน ข้อเท็จจริงในคดีไมโครซอฟท์ - เอเทคนี้ ศาลไทยก็ใช้ subjective test ครับ คือมองว่าเอเทคมีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์มาก่อนการล่อซื้อหรือไม่ ศาลท่านพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหมดครับ เมื่อไม่ปรากฎพยานหลักฐานเกี่ยวกับวัน-เวลาที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ พยานหลักฐานที่ศาลใช้พิจารณาคือ เทปบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างบุคคลที่ไปล่อซื้อกับพนักงานขายของเอเทค ซึ่งก็ได้ความว่าพนักงานขายได้บอกกับผู้ซื้อ (ปลอม)ไปแล้วว่าเอเทคจำหน่ายเฉพาะเครื่องเปล่า ถ้าต้องการโปรแกรมด้วยก็จะไม่มีลิขสิทธิ์ หากต้องการโปรแกรมที่มีลิขสิทธิ์จะต้องเสียเงินเพิ่ม และผู้ซื้อ (ปลอม) ก็ยังยืนยันความต้องการโปรแกรมที่ละเมิดลิขสิทธิ์และดูจากพยานหลักฐานอื่น ๆ ก็ทำให้ศาลเชื่อว่าตอนที่เครื่องออกมาจากโรงงานนั้นไม่มีโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์มาด้วยครับ ศาลจึงพิจารณาเห็นว่าเอเทคกับกรรมการผู้จัดการมิได้รู้เห็นกับละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์ครับ เมื่อการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดจากการล่อซื้อของบุคคลที่ไมโครซอฟท์จ้างมา ไมโครซอฟท์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีสิทธิจะไปฟ้องคดีอาญากับเอเทค ศาลจึงพิพากษายกฟ้องครับ ซึ่งก็ยังมีข้อน่าคิดอีกนะครับว่าที่ยกฟ้องนี้ยกฟ้องเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 และ 2 คือเอเทคกับกรรมการผู้จัดการหรือเปล่า เพราะคดีนี้เขาฟ้องพนักงานขายเป็นจำเลยที่ 3 ด้วยครับ แต่พนักงานขายหนีไปไม่ได้ตัวมาดำเนินคดีครับ ถ้าได้ตัวมาดำเนินคดีก็ไม่รู้ว่าพนักงานขายจะได้รับอานิสงค์จะการยกฟ้องนี้ด้วยหรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่จบแค่นี้ครับ เพราะคำพิพากษาฎีกานี้ตัดสินในปี 2543 แต่ปรากฎว่าในปีเดียวกันไมโครซอฟท์ก็ยังจองเวรกับเอเทคไม่เลิกครับ ไปฟ้องคดีอีกคดีหนึ่งที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คราวนี้ไม่ได้ฟ้องเอเทคโดยตรง แต่ฟ้องตัวแทนจำหน่ายของเอเทคครับ เรื่องราวจะเป็นยังไงติดตามใน Episode II ของคดีนี้ครับ
โดย Lawyerthai.com
ความคิดเห็น