ลิขสิทธิ์เว็บไซต์ของคุณเป็นของใคร?

ลิขสิทธิ์เว็บไซต์ของคุณเป็นของใคร?
ปัญหาว่าใครจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของงานสร้างสรรค์ใดนั้น จริงๆ เป็นเรื่องเข้าใจไม่ยากครับ หลักก็คือใครเป็นผู้สร้างสรรค์งาน คนนั้นก็เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แล้วมันดีตรงไหนรู้ไหมครับ มันดีตรงที่ว่าใครจะเอางานเราไปทำซ้ำ ดัดแปลงหรือจำหน่ายจ่ายแจกไม่ได้ครับ จะทำก็ต้องขออนุญาตเราก่อน และกฎหมายก็คุ้มครองไปตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์งาน และแม้ผู้สร้างสรรค์จะเสียชีวิตไปแล้ว กฎหมายก็คุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี (ของอเมริกาเขาคุ้มครองไปอีก 70 ปีครับ) ลูกหลานก็ยังได้ใช้ประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ของเรา อย่างนี้แล้วใครจะไม่อยากเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ล่ะครับ

กรณีเว็บไซต์นั้นถ้ามองตามหลักข้างต้นก็อาจเห็นว่า ลิขสิทธิ์ก็ต้องเป็นของ web designer แหง ๆ อยู่แล้วครับ ก็แหม! เขียนมากับมือ แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไปน่ะสิครับ ถ้าเป็นเว็บไซต์ของตัวเองล่ะก็หมดห่วง เขียนให้ตัวเอง แล้วจะให้ ม.ค.ป.ด.ได้ไงครับ แต่ถ้าคุณเป็นลูกจ้างของบริษัท มีตำแหน่งเป็น webmaster หรือ web designer อะไรก็แล้วแต่ คุณพัฒนาเว็บไซต์ขึ้นมา ถ้าไม่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์เว็บไซต์เป็นของคุณครับ แต่นายจ้างเขาก็มีสิทธิ์ใช้เว็บไซต์ได้เพื่อวัตถุประสงค์ของบริษัท ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วผมไม่รู้จริงๆ ครับว่าบริษัทเขาจะยอมให้ลูกจ้างถือลิขสิทธิ์ใน web site ของบริษัทหรือเปล่า

ส่วนกรณีนี้คุณเป็น Freelancer แล้วมีคนมาจ้างให้คุณเขียนเว็บไซต์ให้ ตรงนี้ตามกฎหมายเขาเรียกว่าสัญญาจ้างทำของครับ ลิขสิทธิ์ของเว็บไซต์จะตกอยู่กับผู้ว่าจ้างไม่ใช่ของคุณ แต่ก็นั่นอีกล่ะครับ ถ้าตกลงกันเป็นอย่างอื่นกฎหมายก็ยอมรับว่าใช้ได้

โดย Lawyerthai.com

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view