กฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศของเราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่แท้จริงแล้วเรื่องดังกล่าวก็มิใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของประเทศไทยก็มีแต่ก็ไม่ค่อยมีคนรู้ใช่ไหมครับโดยเฉพาะพวกเราที่ไม่ใช่นักกฎหมาย อย่าว่าแต่กฎหมายลิขสิทธิ์เลยแค่พูดถึงกฎหมายก็เริ่มมึนซะแล้ว
เริ่มต้นนะครับ เราจะมาดูกันก่อนว่าทรัพย์สินทางปัญญาที่เราพูดๆกันมันหมายถึงอะไรบ้าง อย่างไรที่เป็นและไม่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา คำว่าทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. วัตถุที่มีรูปร่าง และ
2. วัตถุที่ไม่มีรูปร่าง
ทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันมักจะเป็นทรัพย์สินที่มีรูปร่างซึ่งตามกฎหมายแพ่งและพานิชย์ เรียกว่า "ทรัพย์" ส่วนทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นทรัพย์สินที่วัตถุแห่งสิทธิเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ กล่าวคือ "ปัญญาความคิดของมนุษย์นั้นมีคุณค่าและสามารถถือเอาเป็นเจ้าของได้"
ดังนั้น ปัญญาความคิดของมนุษย์จึงเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งตามกฎหมาย เรียกว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา"(Intellectual Property) ซึ่งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้กำหนดบทนิยามไว้ในอนุสัญญาจัดตั้งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ( Convention Establishing the World Intelectual Property Organization ) ซึ่งลงนาม ณ กรุงสต๊อกโฮล์มเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1967 ดังนี้ : "intellectual property" shall include the right relation to :
- literary, artistic and scientific works,
- performance of the performing artist , phonograms , and broadcasts
- inventions in all field of human endeavor ,
- scientific discoveries ,
- industrial design ,
- trademarks , servicemarks , and commercial names and designations
- Protection against unfair competition , and all other right resulting from intellectual activity in the industrials , scientific , literary or artistic field.
จากบทนิยามแห่งอนุสัญญาดังกล่าวได้กล่าวถึงชนิดของทรัพย์สินทางปัญญาไว้หลายอย่าง เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การแสดงของนักแสดง การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ เครื่องหมายบริการ เหล่านี้เป็นต้น
และจากบทนิยามดังกล่าวสามารถแบ่งทรัพย์สินทางปัญญาออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมสมบัติ และลิขสิทธิ์ สำหรับประเทศไทยในขณะนี้มีกฎหมายที่รับรองหรือยอมรับว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีอยู่เฉพาะลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าเท่านั้น
งานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ได้แก่ งานประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนต์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียง งานแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะของผู้สร้างสรรค์
กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ให้ความคุ้มครองความคิดหรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ตรงนี้สำคัญมากนะครับและเป็นส่วนที่ทำให้เกิดมีปัญหาโดยเฉพาะในต่างประเทศในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน
ส่วนเงื่อนไขการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นกฎหมายมิได้กำหนดให้ต้องนำไปจดทะเบียน ผู้สร้างสรรค์ย่อมได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติหากผู้สร้างสรรค์นั้นได้สร้างสรรค์งานชึ้นมาโดยชอบโดยหลักที่กำหนดไว้ในกฎหมายลิขสิทธิ์
นอกจากนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ยังมิได้คำนึงถึงความใหม่ของงานที่สร้างสรรค์เหมือนอย่างที่กำหนดไว้ในกฎหมายสิทธิบัตร สำหรับคุณภาพหรือคุณค่าหรือราคาของงานนั้นก็มิได้เป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
แม้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์จะถือว่าผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในงานของตน แต่ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ รัฐก็วางข้อกำหนดหรือข้อยกเว้นบางประการเพื่อปกป้องประโยชน์ของบุคคลทั่วไปอันเป็นการจำกัดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์และข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ 3 ประเภท ดังนี้
1. การกำหนดระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิ
2. การกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้สิทธิแก่บุคคลทั่วไปที่มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ได้โดยเสรี ( Fair Use)
3. การอนุญาตโดยกฎหมายบังคับ ( Compulsory Licences)
3.1 กฎหมายบังคับเด็ดขาด
3.2 กฎหมายบังคับอนุญาตไม่เด็ดขาด
ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดแบบเจาะลึกทุกประเด็น แต่จะกล่าวถึงความรู้โดยทั่วๆไปที่เป็นประโยชน์และเข้าใจได้ง่าย ส่วนผู้ที่สนใจในรายละเอียดก็ขอแนะนำให้ไปค้นหาเพิ่มเติมได้จากเวบไซต์ที่ระบุไว้ท้ายหนังสือเล่มนี้
และเมื่อเราพอจะรู้จักความหมายของคำว่าทรัพย์สินทางปัญญากันบ้างแล้ว คราวนี้มาดูกันว่าลักษณะการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตมีลักษณะอย่างไร และมีวิธีการอย่างไรบ้าง
โดย Lawyerthai.com
ความคิดเห็น