เลขเสร็จ
๕๗๘/๒๕๔๕
เรื่อง
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง หารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการออกหมายจับ
-------------------
เนื้อหา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือ ที่ ตช ๐๐๐๔.๖/๗๒๐๗ ลงวันที่
๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๕ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาความว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับ
แจ้งจาก สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่า ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (เรื่องการจับ การค้น การคุมขัง การปล่อย
ชั่วคราว และการสอบสวน) ไม่อาจทราบระยะเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้
อย่างแน่นอนว่าจะเสร็จสิ้นก่อนวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๕ หรือไม่ กรณีจึงมีปัญหาข้อกฎหมาย
เกี่ยวกับการออกหมายจับ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๘ (๑)
กำหนดให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่สามารถออกหมายจับได้ แต่ตามรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๓๗ บัญญัติว่า ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำ
มิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล และได้กำหนดบทเฉพาะกาลมาตรา ๓๓๕ (๖) ว่า ในวาระ
เริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๓๗ มาใช้บังคับจนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่ง
กฎหมายเพื่อให้การเป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรม
นูญนี้
สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา ๕๘ (๑) แห่ง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมาตรา ๓๓๕ (๖) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา
จักรไทย พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่สามารถออกหมายจับได้ จนกว่าจะมีการแก้ไข
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้การออกหมายจับเป็นอำนาจของศาล แต่หากระยะ
เวลาเกินห้าปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าการแก้ไขประมวล
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเรื่องการออกหมายจับจะเสร็จสิ้นหรือไม่ก็ตาม ก็ให้มาตรา ๒๓๗
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีผลใช้บังคับ ดังนั้น ในกรณีที่ยังไม่มีการแก้ไขประมวล
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเรื่องการออกหมายจับ นับตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๕ ซึ่งเป็น
วันที่เกินกำหนดห้าปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกาศใช้ พนักงานฝ่ายปก
ครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่จึงไม่มีอำนาจออกหมายจับอีกต่อไป เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อบท
บัญญัติดังกล่าวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอหารือว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความ
เห็นเกี่ยวกับการออกหมายจับดังกล่าวเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อที่สำนักงานตำรวจแห่ง
ชาติจักได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวโดยมีผู้แทน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ผู้แทนสำนักงานศาล
ยุติธรรม และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นว่า
บทบัญญัติมาตรา ๒๓๗*[๑] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้ศาลเท่านั้นเป็น
ผู้มีอำนาจออกหมายจับมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้น โดย
กำหนดให้ผู้ที่มีอำนาจออกหมายจับและผู้ที่ปฏิบัติการจับกุมเป็นคนละองค์กรกัน อันจะเป็นการ
ควบคุมการใช้อำนาจของรัฐในเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของ
ประชาชนตามมาตรา ๓๑*[๒] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉะนั้น การที่บทเฉพาะกาล
มาตรา ๓๓๕ (๖)*[๓] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติมิให้นำมาตรา ๒๓๗ มาใช้
บังคับจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
นี้ นั้น เห็นว่า เงื่อนไขการบังคับใช้มาตรา ๒๓๗ อยู่ที่กำหนดเวลาห้าปีมากกว่าการแก้ไขกฎหมาย
ที่เกี่ยวข้อง กำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นบทบังคับเด็ดขาด เพราะเป็นการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับ
การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น เมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกาศใช้บังคับแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการแก้ไขมาตรา ๕๘
(๑) *[๔] แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้สอดคล้องกับมาตรา ๒๓๗ ของ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็ตาม มาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ก็จะมีผลใช้บังคับ ส่วนมาตรา ๕๘ (๑) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นอันใช้
บังคับมิได้ เพราะขัดกับมาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) เห็นว่า เมื่อ
ครบกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกาศใช้บังคับแล้ว
ก็ต้องดำเนินการตามมาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยศาลเป็นผู้มีอำนาจ
ออกหมายจับ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไม่มีอำนาจออกหมายจับอีกต่อไป ความ
เห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นถูกต้องแล้ว
(ลงชื่อ) ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์
(ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กันยายน ๒๕๔๕
police.go.th
ความคิดเห็น