ข้อกฎหมายเกี่ยวกับถ้อยคำ "ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง"

ข้อกฎหมายเกี่ยวกับถ้อยคำ "ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง"

เลขเสร็จ
๔๙๕/๒๕๔๔
เรื่อง
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับถ้อยคำ "ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง"
ตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
-------------
เนื้อหา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือ ที่ ตช ๐๐๐๔.๖/๑๐๖๑๐ ลงวันที่ ๑๓
ธันวาคม ๒๕๔๓ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือว่า สืบเนื่องจากที่ผู้แทนสำนักงาน
ตำรวจแห่งชาติได้เข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออก
ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่
พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติ ในการจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในชั้น
สอบสวน) ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๓
โดยผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเกี่ยวกับความหมายของถ้อยคำ
"ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง" ตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ
อาญา (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) ยังไม่ได้หยิบยก
ประเด็นปัญหาดังกล่าวขึ้นพิจารณา และแนะนำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอเป็นข้อหารือมา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับถ้อยคำ "ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน
อย่างยิ่ง"
ตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่า กรณี
อย่างไรจึงจะถือว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้ถือเป็น
แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) ได้พิจารณาปัญหาที่หารือดังกล่าวโดยมี
ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม (สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง) ผู้แทนกระทรวงแรงงาน
และสวัสดิการสังคม (กรมประชาสงเคราะห์) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงาน
อัยการสูงสุด และผู้แทนสภาทนายความ เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นดังนี้

มาตรา ๑๓๓ ทวิ*[๑] แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไข
เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๐)
พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดหลักการสำคัญเกี่ยวกับการถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กที่มีอายุ
ไม่เกินสิบแปดปีโดยต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงาน
อัยการเข้าร่วมในการถามปากคำเด็กด้วย เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเด็กและป้องกันมิให้เด็กได้
รับความกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจหรืออยู่ในภาวะตึงเครียดมากเกินไป กล่าวคือ ผู้เสียหาย
พยาน หรือผู้ต้องหา*[๒] ซึ่งเป็นเด็กอาจได้รับความกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจจากการถาม
ปากคำของทนายความ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ตลอดจนในชั้นการสืบพยานของ
ศาล*[๓] ที่ประสงค์จะทราบรายละเอียดของพฤติการณ์แห่งคดี โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพจิตใจหรือ
สภาพความรับรู้ของเด็กทำให้เด็กเกิดความเกรงกลัวในการให้การ และส่งผลให้การให้ถ้อยคำ
คลาดเคลื่อน ซึ่งหลักการสำคัญข้อนี้จะต้องใช้ในทุกกรณี เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา
๑๓๓ ทวิ วรรคห้า ที่บัญญัติว่า ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอนักจิตวิทยา
หรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำพร้อม
กันได้ ก็ให้พนักงานสอบสวนถามปากคำเด็ก โดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามวรรคหนึ่งอยู่ร่วมด้วย
ก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวน เนื่องจากการกำหนด
หลักการถามปากคำเด็กไว้โดยเคร่งครัดบังคับในทุกกรณีอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะใน
ต่างจังหวัดซึ่งมักจะขาดแคลนบุคลากร เช่น นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น ทำให้ไม่
สามารถเริ่มการถามปากคำและต้องเลื่อนเวลาออกไปเพื่อรอบุคคลดังกล่าวมาจนครบเสียก่อน
ระยะเวลาที่ต้องล่าช้าออกไปนี้เองที่เป็นปัญหาว่า หลักเกณฑ์และวิธีการถามปากคำเด็กที่กำหนด
ขึ้นใหม่ที่ต้องการจะคุ้มครองเด็ก แท้ที่จริงอาจทำให้เด็กอยู่ในภาวะตึงเครียดมากยิ่งขึ้นด้วยเหตุ
ระยะเวลาการถามปากคำที่ยาวนานออกไป ประกอบกับการถามปากคำที่ไม่มีบุคคลครบตามที่
กฎหมายกำหนดไว้ก็จะทำให้การสอบสวนนั้นไม่ชอบ ข้อยกเว้นนี้เดิมในร่างของรัฐบาลไม่มีคำว่า
"อย่างยิ่ง" แต่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไข
เพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการ
เพิ่มเติมถ้อยคำว่า "อย่างยิ่ง" เข้าไป ทั้งนี้ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่าข้อยกเว้นของหลักการถามปากคำ
เด็กตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ วรรคห้า จะนำมาใช้เป็นหลักการในทางปฏิบัติไม่ได้จะต้องกระทำเฉพาะ
กรณีจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ
และหากไม่ถามปากคำในเวลานั้นจะมีผลกระทบกระเทือนต่อรูปคดีเป็น
อย่างยิ่ง เป็นต้นว่า กรณีที่ผู้เสียหายหรือพยานกำลังจะเสียชีวิต หรือคดีกำลังจะขาดอายุความที่
มิใช่เป็นเหตุมาจากความบกพร่องของเจ้าพนักงาน อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาว่ากรณีใดจะถือ
เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งหรือไม่นั้น ในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ศาลก็จะเป็น
ผู้ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่ากรณีนั้นจะถือเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งหรือไม่

(ลงชื่อ) ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์
(นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สิงหาคม ๒๕๔๔

 

police.go.th

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view