หลายคนที่เคย Hack หรือคนที่กำลังคิดจะ Hack อาจมีข้อสงสัยอยู่ในใจว่า การกระทำอย่างนี้ (Hack) จะผิดกฎหมายมั้ยนะ เราเพียงแต่ Hack เข้าไปเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเสียหาย คงจะไม่เป็นอะไรมั้ง เอ…. แต่ก็อยากรู้นะว่ากฎหมายเค้าว่าอย่างไรกับเรื่องนี้
ขณะนี้ (ที่เขียนต้นฉบับ) กฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Computer Crime) ของบ้านเรายังไม่ประกาศใช้ แต่จากร่างกฎหมายที่ผ่านตาไปบ้าง ก็เห็นว่าได้ระบุเรื่องนี้เอาไว้เหมือนกัน ก็คือเรื่อง การเข้าถึงโดยไม่มีอำนาจโดยชอบ (Unauthorized Access) ซึ่งกำหนดให้การเข้าถึงโดยไม่มีอำนาจโดยชอบไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ถือเป็นความผิดทั้งสิ้น ตรงนี้คงทำให้หลายคนหายสงสัยแล้วว่าการ Hack นั้นผิดกฎหมายหรือไม่ สรุปแล้วโดยหลักก็คือ ผิดทุกกรณี
แต่เรื่องอะไรก็ตาม เมื่อมีหลักแล้ว ก็มักจะต้องมีข้อยกเว้นอยู่เป็นของคู่กันด้วยเสมอ เช่นเดียวกัน กฎหมายดังกล่าวก็ได้ระบุยกเว้นไว้ว่า ผู้ทำการ Hack อาจไม่มีความผิด หากเป็นการกระทำเพื่อการทดสอบระบบงานในหน้าที่ของตน ซึ่งหมายความว่า ถ้าเพื่องานก็ให้ทำได้ แต่คงหมายความเพียงการ Hack ในองค์กรหรือหน่วยงานของตนเองเท่านั้น เพราะการ Hack เข้าไปที่อื่นที่ไม่มีอำนาจโดยชอบถือว่าเป็นความผิดทั้งสิ้น
หลายคนอาจเถียงอยู่ในใจว่า เรา Hack เข้าไปเพื่อการศึกษา ไม่ได้มีเจตนาร้ายอะไร และไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนเสียหาย อย่างนี้ไม่น่าถือเป็นความผิด เพราะขาดเจตนาตามกฎหมาย เจอไม้นี้เข้าก็รู้เลยว่า คนที่พูดนี้หัวหมอและรู้กฎหมายพอสมควร
แต่ว่ากฎหมายนี้ (Computer Crime) เป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งบัญญัติมาเพื่อรองรับกับเรื่องพิเศษ และแน่นอนว่าในเรื่องเจตนาก็ย่อมต้องพิเศษด้วยเช่นกัน กฎหมายนี้ระบุให้การเข้าถึงโดยไม่มีอำนาจโดยชอบนั้น เป็นความผิดทั้งสิ้น แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนากระทำความผิดก็ตาม ทั้งนี้ เพราะการพิสูจน์หาแรงจูงใจ หรือหาเจตนาที่แท้จริงนั้นทำได้ยากมาก ทั้งการดำเนินการก็ยากลำบาก และเป็นการเพิ่มภาระให้แก่เจ้าพนักงานด้วย
ถามว่า แล้วอย่างนี้การ Hack อย่างไรจึงจะไม่ผิดกฎหมาย ถ้าตอบตามกฎหมายที่กำลังจะออกมานี้ ก็ต้องบอกว่า ไม่มีครับ เว้นแต่ตามข้อยกเว้นที่บอกไว้ข้างต้น คือ ทำได้เฉพาะการกระทำเพื่อทดสอบระบบรักษาความปลอดภัยในหน้าที่การงานของตนเท่านั้น
ส่วนถ้าจะถามว่า ยังจะ Hack กันไปทำไม พวกคุณก็รู้คำตอบกันดีอยู่แล้วนี่ครับ
โดย Lawyerthai.com
ความคิดเห็น