การทำความสะอาดเหล็กกล้าไร้สนิม
(Cleaning of Stainless Steel)
ปัจจุบัน เหล็กกล้าไร้สนิมได้ถูกใช้งานอย่างกว้างขวาง เมื่อเราเข้ามาในเมืองแล้วลองเหลียวมองรอบๆ จะพบผลิตภัณฑ์จากเหล็กกล้าไร้สนิมที่ใกล้ตัวมากมาย เช่น ที่พักผู้โดยสารตามป้ายรถประจำทาง เสาตามห้างสรรพสินค้า ราวบันไดตามตึกและลิฟท์ เป็นต้น เหล็กกล้าไร้สนิมเหล่านี้จะสกปรกได้เมื่อเวลาผ่านไป โดยความสกปรกมีตั้งแต่ผงฝุ่น รอยนิ้วมือ คราบมัน สี ฯลฯ ซึ่งทำให้ผิวเหล็กกล้าไร้สนิมหมอง สูญเสียความเงางาม และลดความต้านทานต่อการกัดกร่อนได้ สำหรับการใช้งานเหล็กกล้าไร้สนิมประเภทที่ต้องการความสะอาดสูงก็มีหลายด้าน เช่น ด้านที่เกี่ยวกับการหุงต้มอาหาร ด้านยา ด้านอากาศยานและนิวเคลียร์ เป็นต้น เหล็กกล้าไร้สนิมจะสามารถใช้งานได้ดีที่สุดในสภาพที่สะอาด ดังนั้น การทำความสะอาดจึงเป็นสิ่งจำเป็น
บทความนี้จะกล่าวถึงการทำความสะอาดเหล็กกล้าไร้สนิมโดยเน้นที่การทำความสะอาดระหว่างการใช้งาน โดยความถี่ในการทำความสะอาดจะขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เกรดของเหล็กกล้าไร้สนิม สภาวะแวดล้อมที่ใช้งาน ประเภทผิวสำเร็จของเหล็กกล้าไร้สนิม เป็นต้น
หมายเหตุ – วิธีการทำความสะอาดที่จะกล่าวถึงต่อไปเป็นเพียงแนวทางทั่วๆ ไปเท่านั้น ผู้ใช้งานควรทดสอบวิธีการทำความสะอาดกับชิ้นตัวอย่าง หรือบริเวณพื้นผิวเล็กๆ ในบริเวณที่ไม่เด่นก่อน เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าไม่เกิดผลเสียหายตามมา และสำหรับผิวสำเร็จเฉพาะควรได้รับคำแนะนำจากบริษัทผู้ขาย
ผิวสำเร็จของเหล็กกล้าไร้สนิม
ผิวสำเร็จของเหล็กกล้าไร้สนิมนั้นนอกจากจะมีผิวที่ได้จากการรีด ผิวจากการขัดลายเส้น ผิวจากการขัดเงาละเอียดแล้ว ยังมีผิวสำเร็จที่หลากหลายที่ใช้ในงานเชิงสถาปัตกรรม ผิวสำเร็จบางแบบต้องการความระมัดระวังพิเศษในเรื่องของการทำความสะอาด และควรได้รับคำแนะนำจากผู้ขาย
ผิวสำเร็จชนิดต่างๆ ของเหล็กกล้าไร้สนิมตาม JIS G 4305
ชนิดของผิว(Surface finish) |
ลักษณะ |
No.1 |
ผิวผ่านการรีดร้อน อบอ่อน ขจัดสนิมและกัดกรด (Descaling & Pickling) ผิวมีสีขาวเทา ค่อนข้างหยาบเนื่องจากผ่านการกัดกรดที่รุนแรง |
2D |
ผิวผ่านการรีดเย็น อบอ่อนและกัดกรด |
2B |
ผิวผ่านการรีดเย็น อบอ่อน กัดกรดและรีดปรับความเรียบผิว (skin pass rolling) |
BA |
ผิวผ่านการรีดเย็นและอบอ่อนในสภาพบรรยากาศควบคุมทำให้ผิวมีลักษณะมัน เงา |
No.3 |
ผิวที่ผ่านการขัดด้วยวัสดุสำหรับขัดเบอร์ 100-120 |
No.4 |
ผิวที่ผ่านการขัดด้วยวัสดุสำหรับขัดเบอร์ 150-180 |
#240 |
ผิวที่ผ่านการขัดด้วยวัสดุสำหรับขัดเบอร์ 240 |
#320 |
ผิวที่ผ่านการขัดด้วยวัสดุสำหรับขัดเบอร์ 320 |
#400 |
ผิวที่ผ่านการขัดด้วยวัสดุสำหรับขัดเบอร์ 400 |
HL |
ผิวผ่านการขัดละเอียดโดยมีรอยขัดเป็นเส้นต่อเนื่องคล้ายเส้นผม (Hair line) |
นอกจากนี้ยังมีผิวสำเร็จอื่นๆ ของเหล็กกล้าไร้สนิม เช่น
ตัวอย่างผิวสำเร็จอื่นๆ ของเหล็กกล้าไร้สนิม
ชนิดของผิว(Surface finish) |
ลักษณะ |
Mirror |
ผิวจะเงาและสะท้อนดีมากได้จากการขัดด้วยวัสดุที่ละเอียดมาก |
Distressed |
ผิวที่มีลวดลายรอยขีด (scratch) ไม่เป็นระเบียบ (random) |
Embossing |
ผิวมีลวดลายนูนจากการรีด |
Plating |
ผิวเคลือบด้วยโลหะมีสีหรือเคลือบด้วยโลหะมีค่า |
เป็นต้น
ผิวสำเร็จ B75 (มีลวดลายเป็นร่องบนผิว)
ผิวสำเร็จ EMI (มีลวดลายนูนบนผิว)
ขอขอบคุณบริษัท ไทย-เยอรมันโปรดักส์ (มหาชน) จำกัด ที่เอื้อเฟื้อตัวอย่างเหล็กกล้าไร้สนิม
การทำความสะอาดเหล็กกล้าไร้สนิม
โดยทั่วไป เหล็กกล้าไร้สนิมจะต้านทานต่อการกัดกร่อนโดยการสร้างชั้นฟิล์มบางๆ ของโครเมี่ยมออกไซด์ที่แน่นและเสถียร (passive) ที่ผิว ทำให้ออกซิเจนจากบรรยากาศยากที่จะเข้าไปทำปฏิกิริยากับเนื้อเหล็กใต้ผิวชั้นฟิล์ม จึงต้านทานต่อการกัดกร่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีสิ่งสกปรกมาเกาะที่ผิว เช่น ฝุ่น หรือวัสดุอื่นๆ จะขัดขวางขบวนการสร้างฟิล์มที่เสถียรและเกิดบริเวณที่อาโนดและคาโธด (เช่น เศษเหล็กจากเครื่องมือ (tool) ที่ใช้ขึ้นรูปเกาะติดผิวเหล็กกล้าไร้สนิมนั้นควรจะทำความสะอาดให้ออกไป) ทำให้เกิดการกัดกร่อน เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถทำความสะอาดได้ง่ายๆ หลายวิธีโดยไม่ต้องกลัวว่าผิวเนื้อโลหะจะหลุดออกเหมือนโลหะเคลือบอื่นๆ นอกจากนี้ เรายังสามารถเลือกความหยาบหรือลวดลายบนพื้นผิว (ชนิดของผิวสำเร็จ) ตลอดจนการออกแบบให้สามารถทำความสะอาดได้ง่าย เช่น การทำความสะอาดโดยน้ำฝนตามธรรมชาติ (สำหรับการใช้งานภายนอก) ได้ด้วย
รูปแบบของสิ่งสกปรกบนพื้นผิว
สิ่งสกปรกที่เกิดกับเหล็กกล้าไร้สนิมมีหลายรูปแบบ เช่น
ฝุ่น เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถมีฝุ่นและดินมาเกาะได้ โดยสิ่งสกปรกมาจากหลายแหล่งโดยลมที่เราสัมผัสอยู่ทุกวัน สิ่งสกปรกต่างๆ จะให้ผลต่างกันไปต่อความสวยงาม การกัดกร่อน และความยาก-ง่ายในการขจัดออก บางอย่างสามารถขจัดออกได้ง่าย แต่บางอย่างต้องการสารทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพเฉพาะ จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นเป็นแบบไหน บ่อยครั้งที่น้ำอุ่น / สบู่ / แอมโมเนีย / ผงซักฟอก ก็เพียงพอที่จะใช้ทำความสะอาดได้ โดยสามารถใช้ร่วมกับผ้านุ่ม หรือฟองน้ำ (หรือแปรงไนล่อน ถ้าสิ่งสกปรกเกาะแน่น) ในการทำความสะอาดก็ได้
ข้อควรระวัง - แปรงเหล็กกล้าทั่วไป หรือฝอยเหล็กกล้าไม่ควรใช้กับทำความสะอาดเหล็กกล้าไร้สนิมเนื่องจากอาจมีอนุภาคของเหล็กกล้าฝังที่เหล็กกล้าไร้สนิมแล้วทำให้เกิดสนิมได้
หลังการทำความสะอาดควรใช้น้ำที่สะอาด ล้างตามด้วยเสมอ
นอกจากนี้ สำหรับน้ำที่มีแร่หรือของแข็งเป็นองค์ประกอบจะทิ้งคราบน้ำไว้เมื่อแห้ง การเช็ดผิวเหล็กกล้าไร้สนิมด้วยผ้าที่แห้งจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ
รอยนิ้วมือและคราบบางๆ เป็นผลจากการใช้งานตามปกติซึ่งพบทั่วไป อย่างไรก็ตาม มันมักมีผลกระทบเพียงเรื่องความสวยงามและไม่ค่อยจะมีผลต่อความต้านทานการกัดกร่อน รอยนิ้วมือและคราบบางๆ สามารถที่จะขจัดออกได้ง่ายโดยหลายวิธี เช่น รอยนิ้วมือที่อาจเป็นปัญหาสำหรับผิวที่ขัดมันหรือผิวสำเร็จชนิด bright finished นั้น สามารถขจัดออกได้ด้วยการเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ thrichlorethylene หรือ acetone ล้าง (rinse) ด้วยน้ำที่สะอาด แล้วเช็ดให้แห้ง อย่างไรก็ตาม มีผิวสำเร็จเฉพาะหลายผิวสำหรับเหล็กกล้าไร้สนิมถูกออกแบบมาเพื่อลดปัญหาเรื่องรอยนิ้วมือ เข่น ผิวมีลวดลายนูนจากการรีด (embossed) หรือผิวสำเร็จแบบ line pattern เป็นต้น
น้ำมันและคราบมัน น้ำมัน อาจมีคราบมัน ขี้ผงและเศษโลหะอยู่ด้วย ทำให้ผิวสกปรกหลังผ่านงาน shop สิ่งสกปรกเหล่านี้จะกัดกร่อนและอาจทำให้ผิวเหล็กกล้าไร้สนิมไม่สามารถรักษาความเสถียร (passive) ได้ ดังนั้น การขจัดออกเป็นครั้งคราวจึงเป็นสิ่งจำเป็น เริ่มจากอาจลองใช้สบู่หรือผงซักฟอกกับน้ำในการทำความสะอาด การทำความสะอาดอย่างง่ายๆ ทำโดยให้ตัวสารละลายให้สัมผัสกับผิวเหล็กที่จะทำความสะอาด และปล่อยให้การละลายของสิ่งสกปรกเกิดขึ้น เช่น การกวนของชิ้นส่วนเหล็กกล้าไร้สนิมเล็กๆ ในถาดของสารละลาย นอกจากนี้ การล้างผิวด้วย trichloroethylene หรือ ตัวทำละลายชนิด Non-halogented เช่น อะเซโตน (acetone) หรือแอลกอฮอล์ เช่น methyl alcohol, ethyl alcohol, methyl ethyl ketone, benzene, isopropyl alcohol หรือน้ำมันสน ก็สามารถใช้ได้ดี จากนั้น จึงล้างออกด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้ง
วิธีการทำความสะอาดเหล็กกล้าไร้สนิม
คราบสกปรก |
วิธีทำความสะอาด |
การทำความสะอาดประจำ |
ใช้ฟองน้ำหรือผ้านุ่มชุบน้ำอุ่น หรือสารละลายของสบู่ แอมโนเนีย ผงซักฟอก เช็ด แล้วล้าง (rinse) ออกด้วยน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้ง สามารถใช้ได้กับทุกผิวสำเร็จ |
รอยนิ้วมือและรอยเลอะ |
เช็ดถูด้วยแอลกอฮอล์ thrichlorethylene หรือ acetone แล้วล้างด้วยน้ำที่สะอาด แล้วเช็ดให้แห้ง |
คราบชา-กาแฟ |
ล้างด้วยโซดาไบคาร์บอเนตผสมน้ำ แล้วล้างออกด้วยสบู่และน้ำ จากนั้นล้างด้วยน้ำอุ่น แล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้านุ่ม |
น้ำมันและคราบมัน |
ล้างด้วยสารละลายผงซักฟอกหรือ trichloroethylene อะเซโตน (acetone) หรือแอลกอฮอล์ เช่น methyl alcohol, ethyl alcohol, methyl ethyl ketone, benzene, isopropyl alcohol หรือน้ำมันสน โดยอาจใช้ฟองน้ำหรือผ้านุ่มช่วยเช็ดในทิศทางของผิวสำเร็จ (polish lines) แล้วล้างออกด้วยสบู่หรือผงซักฟอกและน้ำ จากนั้นล้างด้วยน้ำที่สะอาดและเช็ดให้แห้ง |
คราบสนิม |
แช่หรือทำให้ผิวเปียกด้วยสารละลายกรด oxalic ทิ้งไว้ 15-20 นาที ล้างออกด้วยน้ำที่สะอาด และเช็ดให้แห้ง |
สี |
ล้างออกด้วยสารละลายสี (ใช้แปรงไนล่อนนุ่มๆ ขัด) แล้วลางออกด้วยน้ำที่สะอาด และเช็ดให้แห้ง |
หมายเหตุ – ตารางข้างบนเป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับกรณีที่ยังไม่สามารถทำความสะอาดได้ อาจพิจารณาเลือกใช้วิธีทำความสะอาดโดยการใช้กรด หรือวิธีทางกลซึ่งควรปรึกษาผู้ขายเป็นกรณีๆ ไป
- สำหรับการทำความสะอาดด้วยวิธีทางกล วิธีใช้กรด Pickling และการเร่งให้เกิดชั้นฟิล์มป้องกัน (Passivation) ของเหล็กกล้าไร้สนิมสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก ASTM A380
ข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้งานเหล็กกล้าไร้สนิม
1) สวมถุงมือหรือใช้ผ้าที่สะอาดป้องกันคราบหรือรอยนิ้วมือเมื่อต้องขนย้ายเหล็กกล้าไร้สนิม
2) หลีกเลี่ยงการใช้เศษผ้าที่เปื้อนน้ำมันหรือจารบีเช็ดผิวเหล็กกล้าไร้สนิม
3) ทำความสะอาดผิวที่เปิด (exposed) ของเหล็กกล้าไร้สนิมเป็นประจำ
4) การทำความสะอาดเหล็กกล้าไร้สนิมโดยการใช้กรดกัด (เช่น เพื่อขจัดสิ่งสกปรกประเภทโลหะ รอยเชื่อม และ heat-treating scales) นั้น (ASTM A380) ไม่ควรใช้กับเพื่อ descaling เหล็กกกล้าไร้สนิมชนิดออสเตนนิติกที่สูญเสียโครเมี่ยม (sensitized austenitic stainless steels) หรือ เหล็กกล้าไร้สนิมชนิดมาร์เทนซิติกที่ผ่านการชุบแข็งหรือ บริเวณที่สัมผัสกับชิ้นส่วนเหล็กกล้าคาร์บอน
5) หลังจากทำความสะอาดควรล้าง (rinse) ผิวเหล็กด้วยน้ำสะอาดตาม
6) ควรหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดด้วยตัวทำละลายที่มีคลอไรด์เป็นองค์ประกอบ
7) แม้แต่ผงขัดที่ละเอียดที่สุดก็สามารถสร้างรอยขีดข่วนแก่ผิวสำเร็จบางผิวของเหล็กกล้าไร้สนิมได้ สำหรับผิวประเภทที่ได้จากการขัด (polished finish) การเช็ดทำความสะอาดควรทำในทิศทางเดียวกับรอยจากผิวสำเร็จ ไม่ควรทำขวางรอยจากผิวสำเร็จ
8) ไม่ใช้ตัวทำละลายในบริเวณที่ปิด (closed space) หรือระหว่างการสูบบุหรี่
เครดิต : สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย
โดย เอกสตีล คลอง 8 จำหน่ายเหล็ก
ความคิดเห็น