เห็นหัวข้อแล้วอย่าเพิ่งตกใจว่าผมจะพูดเรื่องอะไรหนักหัวนะครับ คือผมอยากจะเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้ฟังเท่านั้นว่า อินเทอร์เน็ต การศึกษากับปัญหากฎหมายนั้นมันไปพัวพันกันได้อย่างไร ท่านผู้อ่านคงสังเกตนะครับว่าในปัจจุบันนี้ เวลาที่อาจารย์มอบหมายให้นักเรียนนักศึกษาทำรายงานค้นคว้าอะไร นักเรียนนักศึกษาจะทำรายงานได้ง่ายกว่าในอดีต เพราะข้อมูลต่างๆ มีบนอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว ซึ่งเรื่องนี้สร้างปัญหาหนักใจให้กับบรรดาอาจารย์หลายเพราะว่าเด็ก (หัวใส)บางคงไปลอกงานของคนอื่นมาส่งก็มี บางคนหาญกล้าขนาดไป copy งานวิจัยของคนอื่นมาเปลี่ยนชื่อก็มี ตอนที่ผมโชคดีมีโอกาสไปเรียนอยู่ที่อเมริกานั้น เนื่องจากรายงานที่ต้องทำก็เป็นภาษาอังกฤษและข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตก็เป็นภาษาอังกฤษ ก็มี Professor คนนึงเขามาเปรยให้ฟังว่ามีเด็กบางคนไป copy งานวิจัยมาส่งเป็นรายงาน แต่ทำได้ไม่เนียนครับ ปรากฎว่า Professor จับได้ เพราะเคยอ่านงานนั้นมาก่อน ก็เลยถูกไล่ออกไปเลยครับ เรื่องนี้ฝรั่งเขาถือมากไม่ใช่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องจริยธรรมด้วย อย่าว่าแต่ไปลอกงานของเขามาทั้งดุ้นเลยครับ แค่อ้างนิดหน่อยก็ต้องให้เครดิตเจ้าของงานด้วย
หลักกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยเขามีข้อยกเว้นในเรื่องการทำซ้ำหรือแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ในงานวิจัยหรือใช้เพื่อการศึกษาครับ แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีขอบเขตถึงขนาดว่าไป copy หรือ cut-paste งานของคนอื่นมาส่งได้ ที่สำคัญคือต้องมีการอ้างอิงหรือแสดงออกถึงการรับรู้สิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งานครับ ท่านผู้อ่านที่เป็นนักเรียนนักศึกษาก็อย่าลืมนะครับ ลืมเขียนคำนำในรายงานน่ะไม่มีโทษอาญา แต่ลืมเขียนเชิงอรรถ (citation) อาจจะได้รับโทษนะครับ
โดย Lawyerthai.com
ความคิดเห็น