การพนันเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ระบบหมายเลข 1900

การพนันเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ระบบหมายเลข 1900
เรื่องเสร็จที่ ๕๘๙/๒๕๔๕

บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง หารือปัญหาข้อกฎหมายว่าด้วยการพนันเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ระบบหมายเลข ๑๙๐๐
ในการจัดให้มีการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัล

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ตช ๐๐๐๒.๔๑/๖๘๑๔ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท ๐๑๐๐/ภ/๓๕๑๓ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบว่าการที่เอกชนนำบริการทางโทรศัพท์ระบบหมายเลข ๑๙๐๐ (AUDIOTEX) ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ไปจัดรายการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัล โดยตั้งรางวัลที่มีมูลค่าเพื่อดึงดูดผู้ร่วมรายการนั้น การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ หรือกฎหมายอื่นใดหรือไม่

จากการประชุมคณะทำงานของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อพิจารณาปัญหานี้ในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕ คณะทำงานมีมติว่า การทายผลฟุตบอลดังกล่าวเป็นการเล่นที่ยังไม่ได้ระบุชื่อไว้ในบัญชี ก. และบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัติการพนันฯ และยังไม่ได้ระบุชื่อไว้ในกฎกระทรวง การเล่นดังกล่าวจึงเป็นการเล่นตามมาตรา ๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการพนันฯ การพิจารณาอนุญาตนั้นเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่จะออกกฎกระทรวงและกำหนดเงื่อนไขระบุเพิ่มเติมเข้าไว้ในบัญชี ก. หรือ บัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัติการพนันฯ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การใช้โทรศัพท์ระบบหมายเลข ๑๙๐๐ ทศท. ได้อนุญาตให้เอกชนรับสัมปทานไปดำเนินเปิดบริการมาตั้งแต่กลางปี ๒๕๔๓ โดยมีการนำไปใช้ให้บริการในทางธุรกิจด้านต่าง ๆ เช่น ให้บริการข้อมูล ถามผล ฟังเพลง ข่าวเศรษฐกิจ การเมือง โหวตรับฟังข้อคิดเห็นทั่วไป แต่ต่อมาในภายหลังได้มีการนำระบบดังกล่าวไปใช้ในการทายผลฟุตบอลและมีการให้รางวัลจากการทายผลในลักษณะของการเสี่ยงโชคและเป็นการดำเนินการในเชิงธุรกิจอย่างแพร่หลาย

จึงกลายเป็นประเด็นข้อสงสัยว่าพฤติการณ์เช่นนี้เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการพนันฯ อย่างไรหรือไม่ เพื่อความรอบคอบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งคณะทำงานอีกคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาอีกชั้นหนึ่งในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ซึ่งที่ประชุมมีมติว่าการทายผลฟุตบอลโดยใช้โทรศัพท์ระบบหมายเลข ๑๙๐๐ เป็นการเล่นที่ไม่ได้ระบุในบัญชี ก. และ บัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัติการพนันฯ และยังไม่ได้ออกกฎกระทรวงระบุชื่อการเล่นลักษณะดังกล่าวเพิ่มเติมในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ กรณีนี้จึงเข้าข่ายเป็นการเล่นพนันตามมาตรา ๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการพนันฯ แต่เนื่องจากเป็นพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ยังไม่มีการวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องนี้ว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการพนันฯ มาตราใด ที่ประชุมจึงมีมติเห็นควรส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกทางหนึ่ง ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอหารือในประเด็นดังต่อไปนี้

๑. การที่เอกชนซึ่งเป็นผู้ขอรับบริการจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย นำระบบโทรศัพท์หมายเลข ๑๙๐๐ ไปเปิดให้บริการแก่ประชาชน โดยให้มีการทายผลการแข่งขันกีฬา และตอบปัญหาชิงรางวัลต่าง ๆ โดยตั้งรางวัลที่มีมูลค่าไว้ล่อใจนั้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ หรือกฎหมายอื่นใดหรือไม่

๒. หากพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการพนันฯ หรือกฎหมายอื่นผู้ต้องรับผิดจะต้องประกอบด้วยผู้ใดบ้าง

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) ได้พิจารณาปัญหาข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้แทน ทศท.เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ในปัญหาที่ว่า การนำโทรศัพท์ระบบหมายเลข ๑๙๐๐ มาใช้ในการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัล จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ หรือกฎหมายอื่นหรือไม่ นั้น มีความเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ได้กำหนดให้การเล่นต่าง ๆ ที่ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้แก่ การเล่นตามบัญชี ก. และบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัติการพนันฯ หรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งตามมาตรา ๔ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้มีการเล่นดังกล่าวเอาไว้ และการจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใด ๆ ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ ซึ่งตามมาตรา ๘ บัญญัติว่าจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต นอกจากนี้ การเล่นอื่น ๆ นอกจากบัญชี ก. และบัญชี ข. หากเป็นการพนันกันหรือจัดให้มีเพื่อให้พนันกันแล้ว ตามมาตรา ๔ ทวิ บัญญัติว่าจะต้องออกเป็นกฎกระทรวงระบุชื่อและเงื่อนไขเอาไว้ สำหรับการเล่นตามปัญหาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติหารือเกี่ยวกับการที่เอกชนนำโทรศัพท์ระบบหมายเลข ๑๙๐๐ มาใช้ในการจัดให้มีการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัลนั้น ไม่ได้เป็นการเล่นตามบัญชี ก. และบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัติการพนันฯ และไม่เป็นการเสี่ยงโชคและจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลที่ผู้ประกอบกิจการค้าหรืออาชีพจัดให้มีขึ้นตามมาตรา ๘ เนื่องจากไม่ได้เป็นกรณีที่เจ้าของสินค้าให้ผู้ซื้อสินค้าเสี่ยงโชคในการได้รับของแถมพกหรือรางวัล กรณีจึงต้องพิจารณาแต่เพียงว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเล่นที่เป็นการพนันตามมาตรา ๔ ทวิ หรือไม่ ซึ่งคำว่า “การพนัน” จะมีลักษณะหรือมีความหมายอย่างไรนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ไม่ได้ให้ลักษณะหรือความหมายของการพนันไว้

แต่มีบทบัญญัติบางมาตราของพระราชบัญญัติการพนันฯ ได้กล่าวถึงลักษณะการพนันเอาไว้ ได้แก่ ตามมาตรา ๕ ใช้ข้อความว่า “ผู้ใดจัดให้มีการเล่นซึ่งตามปกติย่อมจะพนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแก่กัน” หรือตามมาตรา ๙ ใช้ข้อความว่า “การเล่นอย่างใดที่เสี่ยงโชคให้เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้เล่น”

และศาลฎีกาได้วินิจฉัยการเล่นที่เป็นการพนันไว้ว่าจะต้องมีลักษณะที่ผู้เล่นเสี่ยงต่อการได้และเสีย สำหรับคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ ๓ ได้ให้ความเห็นถึงลักษณะของการพนันเอาไว้สรุปความได้ว่า จะถือว่าเป็นการพนันได้ผู้เล่นจะต้องเสี่ยงต่อการเสียประโยชน์

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าลักษณะที่สำคัญของการพนันคือ จะต้องเป็นการเล่นที่เป็นการเสี่ยงโชคต่อการได้หรือเสียประโยชน์ และเมื่อนำมาพิจารณาปรับกับปัญหาที่หารือของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการที่เอกชนนำโทรศัพท์ระบบหมายเลข ๑๙๐๐ มาใช้ในการจัดให้มีการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัล โดยตามข้อเท็จจริงที่ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติและ ทศท. ชี้แจงนั้น เป็นกรณีที่ ทศท. ได้ทำสัญญาตกลงให้บริษัท สามารถอินโฟมีเดีย จำกัด นำบริการข้อมูลด้วยเสียงโทรศัพท์ระบบหมายเลข ๑๙๐๐ (AUDIOTEX) ของ ทศท. ไปจัดรายการให้ประชาชนใช้โทรศัพท์ระบบดังกล่าวซึ่งคิดค่าบริการนาทีละ ๙ บาททั่วประเทศ ในการทายผลการแข่งขันฟุตบอลและตอบปัญหาและให้ของรางวัลกับผู้ที่ทายผลการแข่งขันฟุตบอลหรือตอบปัญหาถูกต้อง ในกรณีที่มีผู้ทายผลการแข่งขันฟุตบอลหรือตอบปัญหาถูกต้องมากกว่าจำนวนของรางวัลที่จัดไว้ จะมีการหาผู้ได้รับรางวัลโดยการสุ่มผู้โชคดีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และตามสัญญาการให้บริการโทรศัพท์ของ ทศท. บริษัท สามารถอินโฟมีเดียฯ จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากค่าโทรศัพท์ร้อยละ ๖๐ ส่วนที่เหลือ ทศท. เป็นผู้รับ จึงเห็นได้ว่า การจัดให้มีการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัลดังกล่าวไม่ได้เป็นการให้บริการในทางธุรกิจในการให้ข้อมูลข่าวสารตามปกติ แต่มีลักษณะเป็นการเล่นที่มีบุคคลสองฝ่ายประกอบด้วยฝ่ายผู้ทายผลฟุตบอลโดยการโทรศัพท์ผ่านโทรศัพท์ระบบหมายเลข ๑๙๐๐ ซึ่งต้องเสียค่าบริการโทรศัพท์ในอัตรานาทีละ ๙ บาททั่วประเทศ และอาจได้รับของรางวัลซึ่งส่วนมากมีลักษณะเป็น
ทรัพย์สิน และฝ่ายผู้จัดให้มีการทายผลซึ่งจะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ของค่าโทรศัพท์ โดยผลที่เกิดขึ้นมีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับผลของการแข่งขันฟุตบอลหรือความสามารถของผู้ตอบปัญหาและผลของการสุ่มผู้โชคดีจากระบบคอมพิวเตอร์


ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) จึงเห็นว่า การนำโทรศัพท์ระบบหมายเลข ๑๙๐๐ มาใช้ในการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัลเป็นการเล่นที่เป็นการพนัน เนื่องจากเป็นการเล่นที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชคต่อการได้หรือเสียประโยชน์ ซึ่งการจัดให้มีการเล่นดังกล่าวเพื่อให้พนันกันจะกระทำได้นั้น ตามมาตรา ๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการพนันฯ บัญญัติว่าจะต้องมีกฎกระทรวงระบุชื่อและเงื่อนไขการเล่นเอาไว้ เมื่อในปัจจุบันยังไม่มีกฎกระทรวงกำหนดให้สามารถจัดให้มีการเล่นในลักษณะการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัลทางโทรศัพท์ระบบหมายเลข ๑๙๐๐ เพื่อให้พนันกันได้ การจัดให้มีการเล่นดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘


ประเด็นที่สอง ในปัญหาที่ว่า หากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ผู้ที่จะต้องรับผิดได้แก่ใครบ้าง นั้น เนื่องจากข้อเท็จจริงที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หารือมานั้นยังไม่ชัดเจนว่าเป็นกรณีเช่นใด และมีปัญหายุ่งยากแก่การวินิจฉัยอย่างไร คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑ ) จึงไม่พิจารณาให้ความเห็นในชั้นนี้


(ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา


สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ตุลาคม ๒๕๔๕

police.go.th

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view