ที่ผ่านมาผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับความผิดที่กระทำทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อย ทั้งเรื่องกฎหมายลิขสิทธ์ หมิ่นประมาท อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หรือเว็บไซต์ลามก และผมก็เสนอความเห็นว่าจริง ๆ กฎหมายปัจจุบันก็นำมาปรับใช้ได้ในระดับหนึ่งแล้ว เอ ! แล้วทำไมคดีพวกนี้มันไม่ค่อยเป็นข่าวเลยละ หรือว่าตำรวจไทยไม่เก่ง
จริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่าตำรวจไทยไม่เก่งหรอกครับ แต่มันมีปัญหาเกี่ยวกับการสืบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีครับ เริ่มต้นเลยก็คือผู้เสียหายนะไม่รู้ว่าตัวเองตกเป็นผู้เสียหายครับ และถ้าผู้เสียหายไม่รู้แล้วใครจะไปแจ้งความตำรวจละครับ ถึงปกติตำรวจเขาจะมีสายตรวจ (patrol) ที่เราเห็นขี่มอเตอร์ไซด์หรือขับรถวนไปตามถนนหนทางแต่ cyber patrol นะผมยังไม่เคยได้ยินเลยนะครับ และถึงแม้ตำรวจเขาจะโชคดี ไปตรวจจับความผิดได้ก็ตาม ในความผิดบางฐานซึ่งตามกฎหมายเรียกว่าเป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้นั้น ถ้าผู้เสียหายไม่ไปแจ้งความร้องทุกข์ ตำรวจก็สอบสวนดำเนินคดีไม่ได้ครับ ความผิดต่อส่วนตัวที่กระทำบนคอมพิวเตอร์ก็เช่นความผิดต่อกฎหมายลิขสิทธ์และความผิดฐานหมิ่นประมาทครับ
ผ่านด่านแรกมาได้แล้ว คือสมมติว่ามีการแจ้งความร้องทุกข์ หรือเป็นกรณีความผิดอาญาแผ่นดิน (เช่นกรณีเว็บไซต์ลามก) ที่ตำรวจสืบสวนเองได้โดยไม่ต้องรอให้ใครมาร้องทุกข์ ก็จะเกิดปัญหาในการสืบหาว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งตรงนี้ก็เป็นปัญหามากครับ เพราะผู้กระทำความผิดมักจะมีการปกปิด identity ของตนเอง และตำรวจก็มีข้อจำกัดตามกฎหมายในการเข้าไปตรวจสอบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะการบังคับให้ ISPs ให้ความร่วมมือครับ
ถ้าตำรวจเก่งผ่านด่านทั้งสองด่าน ก็จะเจอด่านอันตรายอีกด่านคือเรื่องเขตอำนาจ (Jurisdiction) ครับ คือถ้าสืบไปสืบมารู้ว่าคนทำผิดไม่ได้อยู่ในประเทศไทยจะทำอย่างไงละครับ กฎหมายไทยก็ใช้บังคับในประเทศไทยเท่านั้น ตำรวจไทยจะเข้าไปจับคนทำผิดกฎหมายไทยในประเทศอื่นโดยผลการก็ทำไม่ได้ครับ ต้องอาศัยความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย
ถ้ามองข้ามปัญหาเรื่องเขตอำนาจไป ปัญหาอีกเรื่องก็คือพยานหลักฐานครับ เป็นที่รู้กันว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นลบหรือทำลายได้ง่ายมากครับ รวมทั้งอาจมีการเข้ารหัสหรือใช้ scrubbing software ลบจนไม่เห็นร่องรอยให้แกะกันอีกเลย อย่างนี้ตำรวจจะไม่ปวดหัวได้ไงละครับ
กรณีที่ตำรวจรู้ตัวผู้ต้องสงสัยและก็แน่ใจว่าข้อมูลที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ยังไม่ถูกทำลายไปก็ยังมีปัญหาปวดหัวไม่เลิกครับเพราะรัฐธรรมนูญของเรา (และของต่างประเทศส่วนใหญ่) เขากำหนดให้การค้นบริษัทหรือห้างร้าน บ้านเรือนต่าง ๆ (ซึ่งกฎหมายเขาเรียกรวมว่า " ที่รโหฐาน" ครับ) จะต้องมีหมายค้นของศาล และไอ้หมายค้นนี้ก็ต้องระบุถึงสิ่งของที่ต้องการจะค้นหรือยึดด้วยครับ กรณีคอมพิวเตอร์ตำรวจเขาจะขอให้ศาลระบุยังไงละครับ ขอให้ยึดคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องหรือระบบคอมพิวเตอร์ทั้งระบบจะได้หรือเปล่า ในอเมริกาเขามีปัญหาเรื่องนี้แล้วนะครับ ศาลเขาวินิจฉัยว่าถ้าระบุไว้กว้างเกินไปถือเป็นการไม่คุ้มคอรงสิทธิเสรีภาพของประชาชนครับ ส่งผลให้พยานหลักฐานที่ค้นและยึดได้รับฟังไม่ได้ในศาล ตรงนี้ตำรวจไทยก็ต้องระวังครับ
เป็นไงครับที่เล่ามาข้างต้นก็เป็นปัญหาเท่าที่นึกได้ตอนนี้นะครับ จริง ๆ ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอีกมาก รู้แค่นี้ก็คงพอจะเห็นใจคุณตำรวจเขามากขึ้นแล้วนะครับ
ความคิดเห็น